สาระน่ารู้ วันอาสาฬหบูชา
ความสำคัญ
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้
|
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ
หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์
และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า
|
||
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม |
พรหมอาราธนา
ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า[8] "โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม" ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลกเพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่" จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า[8]2
|
||
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คาถาพรหมอาราธนา2 |
บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้[9]
|
||
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า |
ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว พระพุทธองค์จึง ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม เพราะทรง อาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า
|
||
— อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒ |
หาผู้รับปฐมเทศนา
หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก
เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์
พระพุทธองค์ใช้กว่า 11 วัน เป็นระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ (สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่า เจาคันธีสถูป) เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน 8 (อาสาฬหมาส) ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า "เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา" จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร 'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์' ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"
แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า "แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ (อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส) ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"
พระพุทธองค์ตรัสว่า "พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน" และตรัสว่า
|
||
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ |
ด้วยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์ เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา
เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ฟัง) ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา" เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก
พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนาไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า
|
||
— มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร |
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ
เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงนับเป็น "พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก" ในพระพุทธศาสนา1 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์
ปัจจุบันสถานที่พระพุทธเจ้าประกาศพระอนุตตรสัจธรรมเป็นครั้งแรก และสถานที่บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกในโลก อยู่ในบริเวณที่ตั้งของ ธรรมเมกขสถูป (แปลว่า: สถูปผู้เห็นธรรม) ภายในอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถในปัจจุบัน
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ ทางเหนือของเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล (ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) ปัจจุบัน สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ[22])
เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง
ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ และ เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้ ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ
ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะและบริวารของท่าน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค[30] ว่า
|
||
— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕ |
และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น
ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว
สารนาถหลังพุทธกาล
หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ ในปี พ.ศ. 295 ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า
กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ
กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737 ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก
สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337
จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420 ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2358 ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน
ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น
- ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา
- ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก
- รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
- พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก
- ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ "สตฺยเมว ชยเต" หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง") และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย
บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก
จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา (ธรรมเมกขสถูป)
ปัจจุบัน สามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุว่าจุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้สารนาถจะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่าเจ็ดร้อยปี แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่า ธรรมเมกขะ ที่แปลว่า "ผู้เห็นธรรม" บอกชัดเจนว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา (ซึ่ง ธรรมเมกขะ เป็นศัพท์จากภาษาบาลีว่า ธมฺม (ธรรม) + อิกข (เห็น) แปลได้ว่า เห็นธรรม หรือสถูปที่อุทิศให้แด่ผู้เห็นธรรม ซึ่งก็ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกในโลกนั่นเอง)
สถูปธรรมเมกขะในปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในสารนาถ แม้สถูปแห่งนี้จะถูกผู้บุกรุกพยายามรื้อถอนทำลายอย่างเป็นระบบหลายครั้ง แต่มหาสถูปองค์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่ เป็นโบราณสถานที่เด่นที่สุดในสารนาถจนปัจจุบัน
ปัจจุบัน หลังโบราณสถานสารนาถได้รับการบูรณะ รัฐบาลอินเดียได้มีการเทพื้นซีเมนต์รอบธรรมเมกขสถูปและตกแต่งบริเวณโดยรอบเป็นสวนหย่อม เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและปฏิบัติธรรม