ทานพิธี

เรื่อง : ทานพิธี ๑


   ปาฏิปุคคลิกทาน ได้แก่ ทานที่ถวายจำเพาะเจาะจงบุคคล คือถวายเฉพาะตัว เช่นต้องการจะ
 ถวายแก่ภิกษุรูปใดก็นิมนต์จำเพาะองค์นั้น
 
   สังฆทานทาน ได้แก่ทานที่ถวายแก่สงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แล้วแต่
 ทางวัด คือเจ้าอาวาสหรือพระภัตตุเทสก์จะจัดส่งไปให้ การนิมนต์พระก็ดี การเผดียงสงฆ์ก็ดี
 จึงควรจัดให้เป็นไปตามชนิดของทาน คือ ถ้าจะถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน เจ้าภาพต้องไปนิมนต์
 พระเฉพาะด้วยตนเอง ถ้าจะถวายเป็นสังฆทาน เจ้าภาพจะไปเองหรือส่งคนผู้ที่เชื่อถือไปเผดียง
 ต่อเจ้าอาวาสหรือภิกษุภัตตุทเทสก์ หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในวัดนั้นก็ได้ โดยกำหนดวันเวลา
 และสถานที่ จำนวนพระภิกษุที่ต้องการให้ท่านทราบรายละเอียด ตามนัยที่กล่าวแล้วในบุญพิธี
 พิธีถวายเป็นไปในลักษณะเดียวกันต่างแต่ว่า เจตนาในทาน ๒ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัส
 สรรเสริญ "สังฆทาน" ว่าเป็นเลิศ
 
 ๑. การถวายสังฆทาน เท่าที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จัดถวายที่บ้านก็มี, ถวายที่วัดก็มีการ
 ตกแต่งสถานที่ก็เป็นธุระหน้าที่ ของทายกทายิกาทั้งนั้น ถ้าจัดถวายที่วัด ทางวัดจัดการสง-
 เคราะห์ตามสมควร ข้อสำคัญเจ้าภาพต้องทำเจตนาให้บริสุทธิ์ คือเมื่อเผดียงสงฆ์ต่อเจ้าอาวาส
 หรือภิกษุภัตตุทเทสก์ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าขอเผดียงสงฆ์จากวัดนี้ เพื่อรับสังฆ
 ทาน ในวันนั้น เวลา สถานที่นั้น จำนวนภิกษุเท่านั้นรูป" ตามที่ต้องการแล้ว อย่าคำนึงถึงว่าเรา
 จะได้พระรูปใดก็สุดแล้วแต่ทางวัดจะจัดส่งไปให้ ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญด้วยยวดยานพาหนะ
 หรือท่านเรียกว่า วันนั้นเวลาเท่านั้นๆ เจ้าภาพจะจัดรถมารับที่วัด แม้ว่าภิกษุรูปนั้นจะไม่ชอบพอ
 กับตนมาก่อน ก็ไม่ควรแสดงความรังเกียจ โดยที่สุดแม้จะได้เพียงสามเณรไปรับสังฆทานก็
 ควรยินดี เพื่อให้ทานนั้นเป็นของบริสุทธิ์เป็น "สังฆทาน" เพราะว่า พวกภิกษุหรือสามเณร ก็ชื่อ
 ว่ามาในนามของสงฆ์ เจ้าภาพพึงทำเจตนาให้มุ่งตรงต่อสงฆ์ว่า ไม่ใช่ถวายแก่ "บุคคล" ในการ
 ถวายสังฆทานนี้ ไม่จำกัดจำนวนพระสงฆ์ จะนิมนต์เพียง ๔-๕-๖ รูปก็ได้ไม่จำกัดจำนวน แล้ว
 แต่กำลังศรัทธาของเจ้าภาพ
 
 ๒. พิธีถวาย เมื่อพระสงฆ์มาถึงสถานที่เรียบร้อยแล้ว ได้เวลาเจ้าภาพพึงนำสิ่งของ คืออาหาร
 คาวหวานหรือสิ่งของอย่างอื่นที่ได้จัดเตรียมไว้รวมทั้งดอกไม้ ธูป เทียนด้วย บางแห่งจัดเป็น
 สำรับคาวหวาน บางแห่งจัดเป็นปิ่นโต บางแห่งจัดใส่กระทงรวมในถัง หรือกาละมังก็มี โดย
 เฉพาะมักจะลืมเสียเป็นส่วนมาก คือน้ำ ควรใส่แก้วหรือขวดตั้งไว้ตรงหน้าพระน้ำด้วย จัดเรียง
 ไว้เป็นชุดๆ ตามจำนวนพระสงฆ์ที่มาสู่สถานที่ที่จัดไว้ สิ่งของทั้งหมดเมื่อพร้อมแล้ว เจ้าภาพ
 จัดการจุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัยกราบลง ๓ ครั้ง อาราธนาศีล พระให้ศีล เจ้าภาพรับศีล
 ถ้ามีการฉันด้วยโดยมากเมื่อรับศีล แล้วพระสงฆ์สวดถวายพรพระก่อนฉัน ถ้าไม่มีการฉันเมื่อ
 รับศีล จบแล้วให้เจ้าภาพกราบลง ๓ ครั้ง ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำถวายสังฆทานต่อไป
 
 ๓. คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะ
 ยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารนิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัต
 ตัง หิตายะ สุขายะฯ
 
   คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็น
 บริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารกับของ ที่เป็นบริวารทั้ง
 หลาย เหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
 
 ๔. คำถวายสังฆทานดังกล่าวนี้ ถ้าว่าจบเดียวต้องว่าคำแปลด้วย ถ้า ๓ ครั้ง โดยใช้คำว่า ทุติ,
 ตะติ, นำหน้า ครั้งที่ ๒-๓ ไม่ต้องว่าคำแปลนี้ ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทราบว่าเจ้าภาพว่าจบเดียว
 หรือ ๓ จบ จะได้ประนมมือและรับว่า "สาธุ" ได้ถูกต้อง ในขณะผู้กล่าวคำถวายว่า ตะติ, หรือ
 ว่าคำแปลนั้น พระสงฆ์ทุกรูปจะประนมมือ เมื่อผู้ว่าคำถวายจบ พระสงฆ์รับว่า "สาธุ"
 
 ๕. เมื่อถวายเสร็จแล้ว พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพก็เตรียมกรวดน้ำต่อไป การถวายสังฆ-
 ทานดังกล่าวมานี้ เป็นการถวายประเภทสามัญ คือถวายเพื่อความสุข ความเจริญของตน ถวาย
 เพื่อกุศลให้บุพการีคุณ อันมีบิดา มารดา ครูอาจารย์ ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายทานอย่างอื่นมี
 สลากภัตต์เป็นต้น ต้องเปลี่ยนคำถวายดังต่อไปนี้ 

๖. คำถวายสังฆทานประเภทมะตะกะภัตต์อุทิศให้ผู้ตาย ว่าดังนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต มะตะกะ
 ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ มะตะกะ
 ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง กาละ
 กะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
 
   คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่ง มะตะกะภัตตาหาร กับทั้ง
 ของบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย
 แก่ญาติทั้งหลาย มีบิดา - มารดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ เหล่านั้นเป็นต้น ผู้ทำกาละล่วงไป
 แล้วสิ้นกาลนานเทอญฯ
 
 ๗. สลากภัตต์ การมีพิธีต่างๆ กันตามท้องที่นั้นๆ บางแห่งก็ต่างคนต่างถวายผลไม้ และภัตตา-
 หารนั้นๆ บางแห่งก็ต่างคนก็ถวายผลไม้และภัตตาหารรวมกันแล้ว มีผู้นำกล่าวคำถวายว่าพร้อม
 กัน แบ่งถวายอาหารโดยส่วนเฉลี่ยสงฆ์เท่าๆ กัน พระที่ฉันรวมกัน แต่บางแห่งต่างคนต่างจัด
 สำรับคาวหวานและผลไม้ ต่างแยกกันถวายเฉพาะของตน ถ้าจับฉลากได้เลขที่เท่าไหร่ ก็จัด ณ
 สถานที่นั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ๆ ปักสลากไว้ ถ้าพระน้อย เจ้าภาพมาก ก็รวมกันหลายคนต่อ ๑ สลาก
 ฝ่ายพระเณร ก็จับสลากด้วยเหมือนกัน ใครจับสลากได้เลขที่เท่าไหร่ ก็ไปนั่งประจำที่นั่นตาม
 หมายเลขของตน เมื่อพร้อมแล้วก็กล่าวคำถวายพร้อมกันก็มี แยกกันกล่าวคำถวายเฉพาะของ
 คณะตนก็มี แต่โดยมากรวมถวายพร้อมกัน พระสงฆ์ท่านก็อนุโมทนาพร้อมกัน ถ้าแยกกันถวาย
 ท่านก็จะแยกกันอนุโมทนาเช่นเดียวกัน ตามพิธีนี้แม้จะยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ก็ตรงตามความหมาย
 คำว่าสลากภัตต์และเป็นการสนุกสนานของคณะเจ้าภาพด้วย เพราะเป็นการประกวดประขันกัน
 ในตัวและเชื่อว่าเป็นสังฆทานโดยแท้ เพราะเจ้าภาพก็ไม่รู้จักพระเณร พระเณรก็ไม่รู้จักเจ้าภาพ
 มาก่อน รู้กันก็ต่อเมื่อพระมานั่งตรงสลากของตน ใครชอบพิธีไหนก็เลือกทำพิธีนั้น
 
   การถวายสลากภัตต์นี้ โดยมากแล้วจะทำการจัดที่วัดเพราะจำเป็นต้องใช้บริเวณกว้างๆ พระไป
 นั่งฉันตามโคนต้นไม้ ข้างศาลาบ้าง บางรายเจ้าภาพจัดทำปะรำพิธีชั่วคราวขึ้น หรือใช้เต๊นท์ร่ม
 กางกั้น ที่รู้สึกสนุกตอนพระและเณรเที่ยวเดินหาสลากของท่านตามหมายเลขไม่ค่อยพบได้ง่าย
 นัก เพราะเจ้าภาพซิกแซกนิดหน่อย
 
   คำถวายสลากภัตต์ถวายรวมกัน ว่าดังนี้
   เอตานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุกัฎฐาเน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณ
 ชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหา
 กัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
 
   คำแปล
   ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสลากภัตต์กับภัตตาหารและของ
 บริวารเหล่านี้ อันตั้งไว้แล้วในที่โน้น แต่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งสลากภัตต์
 กับทั้งของบริวารเหล่านั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้ง
 หลาย สิ้นกาลนานเทอญ
 
   ถ้าแยกกันถวาย คำว่า เอตานิ เปลี่ยนเป็น อิมานิ และคำว่า อะสุกัฏฐาเน เปลี่ยนเป็น อิธะ ฐาเน
 นอกนั้นคงเดิม

Visitors: 108,541