กะระณียะเมตตะสุตตัง
ตำนานของเมตตปริตร
เมตตปริตร คือ ปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูป เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว เดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้มาถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจอยู่จำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหลัง และอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน
เมื่อฝนตกพวกท่านจะเจริญกรรมฐานที่กุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่สามารถอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพาบุตรธิดาลงมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดสามเดือน จึงเกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้น จึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ
พวกภิกษุหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ต่อไป ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น จากนั้นจึงรีบเดินทางกลับไปโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตรเพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา
เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า พวกท่านได้เจริญเมตตาโดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆ อีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนา ทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้น (สุตตนิ. อฏ. ๑/๒๒๑, ขุททก. อฏ. ๒๒๕)
เมตตปริตรในหนังสือนี้ต่างจากบทสวดมนต์ฉบับไทยกับฉบับลังกาในบางที่ผู้แปลเลือกใช้ฉบับพม่าที่เรียกว่า ฉบับฉัฏฐสังคีติ (ฉบับสังคายนาครั้งที่ ๖) ซึ่งเป็นฉบับที่พระภิกษุในนิกายเถรวาท ๕ ประเทศ คือ ไทย ลังกา พม่า ลาว และเขมร ได้ร่วมกันสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และมีมติเป็นสมานฉันท์ร่วมกัน
เมตตปริตรนี้เป็นคีติคาถาที่จัดอยู่ในหมวดมาตราพฤติ ฉบับพม่าเป็นฉบับที่ถูกต้องตามกฏนั้น แต่ฉบับไทยกับลังกาไม่ตรงตามฉันทลักษณ์และหลักไวยากรณ์บาลี (ผู้เขียนจะอธิบายเรื่องนี้ในบทเพิ่มเติมท้ายเล่ม) อนึ่ง ท่านอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ได้เล่าว่า แม้พระเถระชาวลังกาผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี คือท่านพระพุทธทัตตเถระ อัครมหาบัณฑิต วัดอัคคาราม จังหวัดบาลังโกดา ประเทศศรีลังกา ก็เคยปรารภเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ กับท่านอาจารย์ว่า เมตตปริตรฉบับพม่าถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆ
คำแปล